โครงการพัฒนาบทเรียนออนไลน์และสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลี
ภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
————————————————————–
ความเป็นมา
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกในการศึกษาให้กับเยาวชนที่ได้บรรพชา และส่งเสริมการนำไอซีทีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความเหมาะสมตามความพร้อมของโรงเรียน ทั้งนี้ จากประชุมคณะกรรมการมูลนิธิฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัส ให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ ดำเนินกิจกรรม/จัดทำบทเรียนออนไลน์หรือสื่อภาษาบาลี เพื่อช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนภาษาบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน เป็นสื่อเสริมสำหรับพระภิกษุ สามเณรได้ใช้ประโยชน์ต่อการเรียนได้ต่อไป
ในการนี้ ฝ่ายเลขานุการโครงการฯ ได้ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แม่กองบาลีสนามหลวง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงและมีความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบบทเรียนออนไลน์ ร่วมกันพัฒนาบทเรียนออนไลน์และสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลีขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลี ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน ให้พระภิกษุสามเณรสามารถเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา เรียนรู้ง่าย สะดวก น่าสนใจ และสามารถนำสื่อที่พัฒนาแล้ว ไปใช้อย่างสะดวก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น พระภิกษุสามเณรในกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ กลุ่มหลักสูตรบาลีสนามหลวง นักเรียนที่เตรียมสอบ PAT ๗.๖ ภาษาบาลี กลุ่มการเรียนบาลีตามอัธยาศัย ตลอดจนผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ
การพัฒนาบทเรียนออนไลน์ภาษาบาลีจะจัดทำในรูปแบบวีดิโอที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลี รวมทั้งมีแบบฝึกหัด แบบทดสอบ เอกสารประกอบการเรียนที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนได้ตามอัธยาศัย และมีช่องทางการเผยแพร่ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ง่ายผ่านช่องทาง Social Media ได้แก่ เว็บไซต์ YouTube Facebook ตลอดจนเปิดเป็นหลักสูตรให้สามารถเรียนในระบบ MOOC (Massive Open Online Course) ซึ่งหากเรียนจบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถได้รับใบประกาศรับรองได้ต่อไป
วัตถุประสงค์: เพื่อ
- ส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลี ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
- ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลีให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจอย่างแพร่หลาย ได้เรียนกับผู้เชี่ยวชาญ สามารถเข้าถึงสื่อได้ง่าย สะดวก
- สืบสานพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเที่ยงตรงผ่านภาษาบาลี
- นำเสนอหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาบาลีที่ทันสมัย
กลุ่มเป้าหมาย ประมาณ ๕๐,๐๐๐ รูป/คน
- ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
- พระภิกษุสามเณร ที่ศึกษาหลักสูตรบาลีสนามหลวง
- พระภิกษุสามเณร ที่ศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ
- นักเรียนมัธยมศึกษา ที่เลือกสอบ PAT ๗.๖
- ประชาชนทั่วไป ที่สนใจเรียนบาลีตามอัธยาศัย
- ผู้ต้องขังในเรือนจำ
เนื้อหาภาษาบาลี จัดทำในรูปแบบวีดิโอ เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนวีดิโอรวม ๖๕๐ ตอน
๑. บาลีไวยากรณ์
๒. แปลบาลีพระธรรมบท
แผนการดำเนินงาน :
ลำดับ | รายละเอียดกิจกรรม | เริ่มต้น | สิ้นสุด |
๑ | วางแผนการดำเนินงาน และจัดตั้งคณะทำงาน | มิ.ย. ๖๓ | ก.ค. ๖๓ |
๒ | พัฒนาสื่อการเรียนภาษาบาลีในรูปแบบวิดีโอ ที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้านภาษาบาลีมีเนื้อหาครอบลุมเรื่อง บาลีไวยากรณ์ และ การแปลบาลีพระธรรมบท รวมอย่างน้อย ๖๕๐ ตอน (คลิป) |
||
๒.๑ ถ่ายทำวิดีโอภาษาบาลี จัดเตรียมเนื้อหาก่อนการถ่ายทำถ่ายทำ ออกกอง พร้อมตัดต่อ ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา นำวิดิโอขึ้นในระบบ พร้อมจัดหมวดหมู่ |
ก.ค. ๖๓ | พ.ค. ๖๕ | |
๒.๒ เมื่อถ่ายทำเสร็จประมาณ ๒๐๐ ตอนจะเริ่มทยอยเผยแพร่ และกำหนดตารางออกอากาศผ่านเว็บไซต์ (ที่จัดทำขึ้นในข้อ ๓) พร้อมทั้งถ่ายทำที่เหลือควบคู่กันไป ก็จะทำให้สามารถเผยแพร่ ผ่านเว็บไซต์พร้อมกับการถ่ายทำได้ |
พ.ย. ๖๓ | พ.ค. ๖๕ | |
๓ | จัดทำบทเรียนออนไลน์ภาษาบาลี ผ่านเว็บไซต์และระบบ MOOC | ส.ค. ๖๔ | พ.ค. ๖๕ |
๔ | เผยแพร่และประชาสัมบทเรียนออนไลน์ เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร ครูสอนภาษาบาลี นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และผู้ต้องขัง เข้าถึงและได้เรียนรู้ผ่านสื่อที่จัดทำขึ้น |
ธ.ค. ๖๕ | พ.ค. ๖๕ |
ผลลัพท์ที่คาดว่าจะได้รับ
- สนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลี
- ได้บทเรียนออนไลน์และสื่อภาษาบาลี ที่ช่วยให้เรียนรู้ง่าย สะดวก น่าสนใจกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเรียนภาษาบาลีสำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ และพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป อย่างกว้างขวาง
- บทเรียนออนไลน์และสื่อภาษาบาลีที่ทำขึ้นสามารถนำไปใช้ได้ในหลายช่องทาง อำนวยความสะดวกให้เข้าถึงได้ง่าย
- บทเรียนออนไลน์และสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลี สามารถเป็นสื่อเสริมให้กับสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ช่วยแก้ปัญหากรณีโรงเรียนที่ขาดแคลนครู
- ได้ชุดสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียน และวิธีการเรียนภาษาบาลีผ่านระบบออนไลน์ (MOOC)
- เป็นช่องทางหนึ่งของการเผยแพร่ภาษาบาลี ซึ่งใช้บันทึกและรักษาคำสอนของพระพุทธเข้าให้กับอนุชนคนรุ่นต่อไป ๆ ได้