โครงสร้างบทเรียน “วิชาแปลมคธเป็นไทย”
วิชาแปลมคธเป็นไทย คือ วิชาแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ในชั้นนี้กำหนดเป็น แปลโดยพยัญชนะและอรรถ
แปลโดยพยัญชนะ คือ การแปลรักษารูปแบบของไวยากรณ์อย่างเคร่งครัด แปลออกสำเนียงวิภัตติอายตนิบาตโดยตลอดไม่มีการตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด วิธีนี้ช่วยให้นักเรียนสังเกตรูปแบบกฏเกณฑ์ต่างๆ ของไวยากรณ์ ของศัพท์และประโยคได้ง่ายขึ้นแต่ไม่ได้เน้นถึงเนื้อความสำนวนในภาษาไทยนัก วิธีนี้จึงทำให้ฟังเข้าใจค่อนข้างยากสำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาภาษาบาลีมาก่อน
ส่วนแปลโดยอรรถ คือวิธีการแปลโดยถือเอาเนื้อความใจความของภาษาไทยเป็นสำคัญ ให้ได้ใจความเป็นที่เข้าใจได้อย่างชัดเจนพอควรไม่เคร่งครัดในการรักษาสำเนียงวิภัตติอายตนิบาตมากนัก แต่ต้องแปลทุกศัพท์ เว้นไม่ได้และยังพยายามรักษาเค้าโครงไวยากรณ์ รูปประโยคให้เห็น พอที่นักเรียนจะแปลกลับเป็นภาษาบาลีได้ไม่ยากเกินไปนักยังไม่ถึงกับเป็นสำนวนภาษาไทยปัจจุบันเต็มที่จะแปลแบบถอดแต่ใจความเลยทีเดียวไม่ได้ ทั้งมิใช่แปลเล่นสำนวนตามใจชอบ จนไปไกลเลยเถิดจากความหมายเดิม ทั้งนี้วิธีการแปลแบบนี้ก็เพื่อรักษาหลักธรรมพุทธวจนะให้สมบูรณ์
การศึกษาวิชาแปลมคธเป็นไทยตามหลักสูตรบาลีสนามหลวง ใช้หนังสืออรรถกถาธรรมบท ๔ เล่ม คือ
๑. ธัมมปทัฏฐกถา (ปฐโม ภาโค – ภาคหนึ่ง)
๒. ธมัมปทัฏฐกถา (ทุติโย ภาโค – ภาคสอง)
๓. ธมัมปทัฏฐกถา (ตติโย ภาโค – ภาคสาม)
๔. ธมัมปทัฏฐกถา (จตุตฺโถ ภาโค – ภาคสี่)
โครงสร้างเนื้อหา “แปลบาลีพระธรรมบท” ในภาพรวม
พระธรรมบทภาคที่ ๑ ยมกวคฺค วณฺณนา จำนวน ๑๔ เรื่อง ๗๕ ตอน
พระธรรมบทภาคที่ ๒ อปฺปมาทวคฺค วณฺณนา จำนวน ๑๘ เรื่อง ๙๘ ตอน
พระธรรมบทภาคที่ ๓ จิตฺตวคฺค วณฺณนา จำนวน ๒๗ เรื่อง ๑๑๙ ตอน
พระธรรมบทภาคที่ ๔ ปุปฺผวคฺค วณฺณนา จำนวน ๓๕ เรื่อง ๗๖ ตอน
รวมทั้งสิ้น ๙๔ เรื่อง ๓๖๘ ตอน
.